ตามที่กระทรวงคมนาคมเห็นชอบให้รถแท็กซี่ปรับค่าโดยสารและกำหนดให้แท็กซี่ต้องตรวจสอบมาตรฐานรถ นำรถเข้าจูนมิเตอร์และซีลตะกั่วที่มาตรค่าโดยสารจากกรมการขนส่งทางบกนั้น ขณะนี้มีรถแท็กซี่เข้ามาดำเนินการตรวจสภาพรถแล้วประมาณ 45,000 คัน แท็กซี่บางส่วนได้ผ่านขั้นตอนที่ 1 แล้ว แต่บางรายที่ยังไม่ผ่านต้องนำรถไปปรับปรุงแก้ไขแล้วนำกลับมาตรวจใหม่ภายใน 15 วัน คาดว่า 22 ธ.ค. จะมีแท็กซี่ที่ผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนประมาณ 2,000-3,000 คัน ที่สามารถปรับค่าโดยสารได้ก่อนเป็นลอตแรก จากจำนวนรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในระบบประมาณ 85,000 คัน
ปัจจุบันมีแท็กซี่เกือบแสนคันทั่วกรุงเทพฯ ออกวิ่งอยู่บนท้องถนนจำนวนหลายหมื่นคันในแต่ละช่วงเวลา มีประชาชนใช้บริการแท็กซี่วันละหลายแสนเที่ยว ดังนั้นการกวดขันเพื่อคุ้มครองดูแลประชาชนและยกระดับคุณภาพบริการแท็กซี่ จึงเป็นเรื่องจำเป็นและคุ้มค่าแน่นอน โดยเฉพาะถ้าภาครัฐต้องการให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง ก็ยิ่งจะต้องเพิ่มคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะ อันรวมถึงแท็กซี่ด้วย จึงจะเป็นการจูงใจให้คนจอดรถส่วนตัว ลดการใช้รถส่วนตัว อยากหันมาใช้บริการแท็กซี่และระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถแท็กซี่ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมานานแล้ว ช่วงแรกจะให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ มีกรมการขนส่งทางบกประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการเรียกรถแบบเหมาจ่ายเดิมขึ้นกับรถแท็กซี่ตกลงกันกับผู้โดยสาร แต่ต่อไปกระทรวงจะปรับให้เป็นการกดมิเตอร์ ซึ่งจะได้ค่าโดยสารเท่ากับหรือใกล้เคียงกับที่เหมาจ่าย จูงใจให้คนขับไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ต่อไปเมื่อผู้โดยสารเรียกแท็กซี่แล้ว คนขับจะต้องไปทุกที่ ไม่มีการปฏิเสธ เพราะการดำเนินการครั้งนี้ จะวางกรอบครอบคลุมทั้งการให้บริการ การใช้บริการ ทุกอย่างจะเป็นธรรมมากขึ้น ผู้ประกอบการจะมีเงินเหลือเพียงพอกับรายจ่าย ไม่ใช่ขับแท็กซี่แล้วได้เงินไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำหรือ 300 บาท
ขณะนี้กรมการขนส่งมีมาตรการให้แท็กซี่นำรถไปตรวจสภาพ ก่อนที่จะนำมิเตอร์ให้เจ้าหน้าที่ขนส่งปรับตั้งค่าให้ แต่เนื่องจากมีแท็กซี่ต่อคิวขอใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทำให้รถแท็กซี่บางคันยังไม่นำรถไปตั้งค่ามิเตอร์ จึงยังต้องให้บริการในราคาเดิมก่อน ขณะที่บางคันที่ตั้งค่าแล้วก็จะปรับขึ้นค่าบริการต่อไป ดังนั้นในช่วงนี้อาจจะเห็นว่ารถบางคันคิดค่าแท็กซี่มิเตอร์ในราคาต่างกัน อย่างไรก็ตามด้านผู้ขับรถแท็กซี่เองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นราคาในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าราคาก๊าซในปัจจุบันก็ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากนัก และราคาก็ไม่ได้เป็นภาระต่อต้นทุน รวมไปถึงมีบัตรในการช่วยลดหย่อนในการเติมก๊าซ แต่หากมีการปรับขึ้นราคาขึ้นไปอีกจะทำให้ประชาชนที่ใช้บริการน้อยลงอยู่แล้วใช้น้อยลงกว่าเดิม