แม้คนขับรถแท็กซี่ดี ๆ จะมีมากกว่าที่แย่ๆ แต่เมื่อมีข่าวร้ายจากโชเฟอร์บางราย ซึ่งนาน ๆ จะเกิดสักที ก็ทำให้สาว ๆ หวั่นไหว หากต้องโดยสารยามค่ำคืนที่ผ่านทางสายเปลี่ยว เพียงคนเดียว เพราะทุกอย่างขึ้นกับพี่เค้าว่าจะเหพวงมาลัยไปในทางไหน
ในยุคที่การสื่อสารออนไลน์เป็นปัจจัยที่เข้าถึงและใช้ง่าย เพียงปลายนิ้วสัมผัสโทรศัพท์มือถือ บวกความแพร่หลายของระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก ออนไลน์ ที่ใคร ๆ ก็เป็นเพื่อนกันได้ ทั้งที่ไม่เคยเจอกัน บนเว็บเฟซบุ๊กจึงเกิดนวัตกรรมบริการเลดี้แท็กซี่ คือรถแท็กซี่สำหรับผู้หญิง ที่เน้นความปลอดภัยและคุณภาพสำหรับผู้โดยสาร ด้วยพนักงานขับรถหญิงที่ผ่านการคัดเลือกและอบรมอย่างดี
เริ่มจากเห็นถึงปัญหาสุภาพสตรีจำนวนมากไม่สบายใจในการใช้แท็กซี่สาธารณะ โดยเฉพาะเวลาเดินทางเพียงลำพัง เขาและเพื่อนที่เรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการไอเอ็มบีเอ จึงคิดหาวิธีหลายรูปแบบ สำรวจและทดลองตลาดหลายครั้ง จนได้ผลสรุปเป็นธุรกิจเลดี้แท็กซี่ ที่จะให้บริการที่ปลอดภัยกว่าแท็กซี่อื่น ๆ มีพนักงานขับรถเป็นสุภาพสตรีทั้งหมด และมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในลำดับต่อไป เมื่อพร้อมมากขึ้น ทั้งคาดหวังให้พนักงานขับรถแท็กซี่ที่เข้าร่วมมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะมีแท็กซี่วิ่งรถเปล่าถึง 70% ที่มีผู้โดยสารมีเพียง 30% ทำให้พนักงานขับรถแท็กซี่มีรายได้น้อย และเชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้แก่พนักงานเพิ่มขึ้น
อัตราค่าโดยสารกำหนดไว้ 3 กรณี คือ รายที่โบกเรียกตามท้องถนน ซึ่งรับทั้งหญิงและชาย คิดตามมิเตอร์เหมือนแท็กซี่ทั่วไป รายที่เรียกผ่านคอลเซ็นเตอร์เบอร์ 08-1266-6360 จะคิดค่าบริการพิเศษ 50 บาทเพิ่มจากมิเตอร์ ส่วนกรณีลูกค้าบริษัท จะคิดราคาพิเศษ ขึ้นอยู่กับการเจรจาเป็นราย ๆ โดยสองประเภทหลัง จะรับเฉพาะสตรี
การใช้เฟซบุ๊กทำธุรกิจ ให้ประโยชน์ในแง่ที่ทำให้ผู้ประกอบการและลูกค้าติดต่อถึงกันได้ สะดวก มีปัญหาใดก็แจ้งได้ ช่วยให้ฝ่ายบริหารรับรู้ ชี้แจงและแก้ไขได้ทันท่วงที ผู้ที่สนใจใช้บริการ เข้าไปดูหน้าไทม์ไลน์ของเลดี้แท็กซี่ ก็จะเห็นความพยายามปรับปรุงงานที่ยังติดขัดบ้างในช่วงต้นของกิจการ เช่น การเร่งรับสมัครคน พร้อมกับการหาสมาชิก หรือการติติงการรับโทรศัพท์ และการตอบรับทางอีเมลที่ไม่ได้ดั่งใจ
เวลานี้มีรถร่วมโครงการแล้วกว่า 10 คันและจะค่อย ๆ ทยอยเพิ่มขึ้น จึงหวังว่าเลดี้แท็กซี่เมืองไทยจะได้รับความไว้วางใจจากสุภาพสตรีไทย สนใจใช้บริการต้องสื่อสารออนไลน์ จะเฟซบุ๊ก อีเมล หรือมือถือ ทีนี้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร ด้วยข้ออ้าง ส่งรถ แก๊สหมด คงไม่มีนะ